วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชาดกนิทาน

พระยานกคุ่มโพธิสัตว์

ในอดีตกาล ในประเทศนั้นนั่นแหละในแคว้นมคธ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิด "นกคุ่ม" เกิดจากท้องมารดา ในเวลาทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมา ได้เป็นลูกนกคุ่ม มีตัวประมาณเท่าดุมเกวียนบรรทุกสินค้า ขนาดใหญ่. ลำดับนั้น บิดามารดาให้พระโพธิสัตว์นั้นนอนในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูด้วยจะงอยปาก. พระโพธิสัตว์นั้นไม่มีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศ หรือไม่มีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนที่ดอน และไฟป่าย่อมไหม้ประเทศนั้นทุกปีๆ.
แม้สมัยนั้น ไฟป่านั้นก็ไหม้ประเทศนั้นเสียงดังลั่น. หมู่นกพากันออกจากรังของตนๆ ต่างกลัวต่อมรณภัย ส่งเสียงร้องหนีไป บิดามารดา แม้ของพระโพธิสัตว์ก็กลัวต่อมรณภัย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไป.
พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นเอง ชะเง้อคอแลเห็นไฟป่ากำลังไหม้ตลบมา จึงคิดว่า ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศไซร้ เราก็จะพึงโบยบินไปที่อื่น ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนบกได้ไซร้ เราก็จะย่างเท้าไปที่อื่นเสีย ฝ่ายบิดามารดาของเราก็กลัวแต่มรณภัย ทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว เมื่อจะป้องกันตน จึงได้หนีไป. บัดนี้ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง วันนี้..เราจะทำอย่างไรหนอ จึงจะควร..?

คุณแห่งศีล, คุณแห่งสัจจะ, คุณแห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้า

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีล ย่อมมีอยู่ในโลกนี้ ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาล ชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายประทับนั่งที่พื้นต้นโพธิ ได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งแล้ว ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ ย่อมมีอยู่ และคุณของพระธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ทรงรู้แจ้งแล้วย่อมมีอยู่.
เออ..ก็ความสัจอย่างหนึ่ง ย่อมมีอยู่ในเราแท้ สภาวธรรมอย่างหนึ่งย่อมมีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะรำลึกถึงอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคุณทั้งหลายที่อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรู้แจ้งแล้ว ถือเอาสภาวธรรม คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในเรา กระทำสัจกิริยาให้ไฟถอยกลับไป กระทำความปลอดภัยแก่ตนและหมู่นกที่เหลือในวันนี้ ย่อมควร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ ความสะอาด และความเอ็นดู มีอยู่ในโลก ด้วยความสัจนั้น ข้าพเจ้าจักทำสัจกิริยาอันยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าพิจารณากำลังแห่งธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะ ขอทำสัจกิริยา.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ระลึกถึง พระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรินิพพาน ไปแล้วในอดีต แล้วปรารภสภาวะ คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน เมื่อจะทำสัจกิริยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเรา ออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
อธิบาย : บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ ปกฺขา อปตนา ความว่า ชื่อว่า ปีกทั้งสองของเรามีอยู่ คือเกิดมีอยู่แต่ไม่อาจบิน คือไปทางอากาศด้วยปีกเหล่านั้นได้ เหตุนั้น จึงชื่อว่าบินไม่ได้.
บทว่า สนฺติ ปาทา อวญฺจนา ความว่า แม้เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่แต่ไม่อาจเดิน คือไปโดยการย่างเท้าไปด้วยเท้าทั้งสองนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเดินไม่ได้.
บทว่า มาตา ปิตา จ นิกฺขนฺตา ความว่า อนึ่ง แม้มารดาบิดาผู้จะนำเราไปที่อื่น แม้นั้นก็ออกไปแล้ว เพราะกลัวตาย พระโพธิสัตว์เรียกไฟว่า ชาตเวทะ.
จริงอยู่ ไฟนั้นพอเกิดก็รู้ คือปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า "ชาตเวทะ" เกิดก็รู้. ด้วยบทว่า ปฏิกฺกม นี้ พระโพธิสัตว์สั่งไฟว่า จงถอยไป คือจงกลับไป. ดังนั้น พระมหาสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นแหละได้ทำสัจกิริยาว่า ถ้าความที่ปีกทั้งสองของเรามี ๑ ภาวะคือการเหยียดปีกทั้งสองบินไปทางอากาศไม่ได้ ๑ ความที่เท้าทั้งสองมี ๑ ภาวะคือการยกเท้าทั้งสองนั้นเดินไปไม่ได้ ๑ ความที่มารดาบิดาทิ้งเราไว้ในรังนั่นแหละแล้วหนีไป ๑ ทั้งหมดเป็นตัวสภาวะทั้งนั้น ดูก่อนไฟ ด้วยคำสัจนี้ ท่านจงกลับไปจากที่นี้.
พร้อมกับสัจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น ไฟได้ถอยกลับไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส ก็แหละ เมื่อจะถอยไป ก็ไหม้ไปยังที่อื่นในป่า ทั้งดับแล้วในที่นั้นเอง เหมือนคบเพลิงอันบุคคลให้จมลงในนํ้า ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อเราทำสัจจะ เปลวไฟอันรุ่งเรืองใหญ่หลีกไป ๑๖ กรีส พร้อมด้วยคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟอันตกถึงนํ้าก็ดับไป ฉะนั้น สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมี ของเรา ดังนี้.

ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐาน บริเวณนี้ไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัปนี้

ก็สถานที่นี้นั้นเกิดเป็นปาฏิหาริย์ ชื่อว่าตั้งอยู่ชั่วกัป เพราะไฟจะไม่ไหม้ในกัปนี้แม้ทั้งสิ้น. พระโพธิสัตว์ ครั้นทำสัจกิริยาอย่างนี้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปตามยถากรรม.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่นี้ เป็นกำลังของเราในบัดนี้ หามิได้ ก็กำลังนั่นเป็นของเก่า เป็นสัจพลังของเราเองในครั้งเป็นลูกนกคุ่ม ดังนี้.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต.
ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มารดาบิดาในครั้งนั้นคงเป็น มารดาบิดา อยู่ตามเดิมในบัดนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม ได้เป็นเราตถาคต แล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น