วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

นิทานซามูไรสามพี่น้อง

นิทานซามูไรสามพี่น้อง

          โบคุเดน ซึคาฮารา เป็นหนึ่งในนักดาบผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโบราณ ท่านมีบุตรอยู่สามคน บุตรทุกคนล้วนสืบทอดอัจฉริยภาพในทางศิลปะการฟันดาบมาจากบิดาของตน ในบั้นปลายชีวิตโบคุเดนต้องการที่จะทดสอบความสามารถของบุตรแต่ละคน
          จึงอยู่มาวันหนึ่ง ท่านนั่งอยู่ในห้อง และให้เรียกหาบุตรสุดท้องเข้ามาพบ บุตรสุดท้องก็เดินเขามาตามระเบียง เลื่อนประตูเปิดออกและก้าวเข้ามา ทันใดนั้นก็มีวัตถุบางอย่างตกลงมาจากเบื้องบน และก่อนที่สิ่งนั้นจะกระทบถูกศีรษะ เขาก็ก้าวถอยหลังและซักดาบออกมาฟันดุจประกายสายฟ้า เมื่อแลดูไป เขาจึงเห็นลูกไม้กลม ๆ ถูกฟันแยกออกเป็นสองเสี่ยงตกกลิ้งอยู่แทบเท้าโบคุเดนได้เตรียมลูกไม้วางไว้บนคานประตู เพื่อว่าลูกไม้จะหล่นลงมาทันทีเมื่อประตูเปิดออก
          "ตอนนี้ เธอจงกลับไปยังที่พักของเธอก่อน" บิดากล่าวกับบุตรสุดท้อง ต่อจากนั้นท่านก็เรียกบุตรที่สองมา ซึ่งบุตรก็เปิดประตูออกโดยไม่รู้เล่ห์เช่นกัน เมื่อลูกไม่ตกลงมาเหนือศีรษะ เขาก็รับเอาไว้ได้ด้วยมือเปล่า "เอาละ กลับไปรอในห้องของเธอก่อน" บิดาสั่ง
          ในที่สุดบุตรหัวปีก็ถูกเรียกหา เมื่อเขาจวนจะก้าวเข้ามาในห้องอยู่แล้ว จิตของเขาได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งผิดปรกติบางอย่างบนคานประตู เขาได้นำลูกไม้ที่วางอย่างหมิ่นเหม่บนคานประตูลงมา เข้ามานั่งลงเบื้องหน้าบิดาและพูดว่า "ลูกรู้ว่าบิดาต้องการทำอะไร"
          โบคุเดนจึงเรียกบุตรอีกสองคนมาอีกครั้งหนึ่ง ท่านตำหนิบุตรคนสุดท้องอย่างขมขื่นว่า "เธอควรจะละอายใจต่อความล้มเหลวเช่นครั้งนี้ แม้จะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงวินาทีหนึ่ง" ครั้นแล้วท่านก็หันไปให้กำลังใจบุตรคนที่สองว่า "จงหมั่นเพียรต่อไปอีกสักครั้งเถิด ลูกเอ๋ย ฝึกฝนตนให้รุดหน้าต่อไป อย่าได้หลงละเลยเสีย" ในที่สุดก็มาถึงบุตรหัวปี ซึ่งท่านได้หันไปกล่าวขึ้นกับลูกศิษย์ลูกหาของท่านว่า "ฉันรู้สึกยินดีที่เธอมีความสามารถสมกับที่จะได้เป็นทายาทผู้สืบทอดสิลปะแขนงนี้ต่อจากฉัน".

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

ชายตาบอด 4 คน

ชายตาบอด 4 คน
จากหลักธรรมคำสอนประจำวัน ในเวปไซต์ Buddhist Chennel เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ที่ประเทศสิงคโปร์ –
แปล โดย ปิยนุช (อาสาเยาวชนชาวพุทธ)
วาดภาพประกอบ โดย a-suka (อาสาหนุ่มสาวชาวพุทธ)
             มีชายตาบอดคนหนึ่งกำลังจะออกจากบ้านเพื่อนเพื่อเดินทางกลับบ้าน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เพื่อนผู้หวังดีของเขาแนะนำให้ชายตาบอดนำโคมไฟติดตัวไปด้วย แต่ ยังไม่ทันที่เพื่อนของเขาจะพูดจบ ชายตาบอดกลับหัวเราะออกมาและพูดสวนกลับมาว่า
             “ ทำไมฉันต้องเอาโคมไฟนี่ไปด้วยล่ะ ฉันน่ะรู้ทางไปบ้านของฉันดี ไม่จำเป็นหรอก ”
             แต่เพื่อสนองความหวังดีของเพื่อนเขาจึงจำต้องเอาโคมไฟนั้นมาด้วย และเมื่อเขาเดินทางไปได้สักพัก ก็มีคนเดินมาชนเขาเข้า ทำให้เขาตกใจ และรู้สึกโกรธขึ้นมาตงิดๆ แล้วเขาก็ตะโกนขึ้นมาว่า
            “ เฮ้ย !!! นี่คุณไม่ได้ตาบอดซะหน่อย ช่วยหลีกทางให้คนตาบอดเดินหน่อยไม่ได้รึไงกัน ”
             แล้วชายตาบอกก็เดินทางต่อไป แต่แล้วก็มีคนอื่นเดินมาชนเขาอีกครั้ง คราวนี้ความโกรธของเขาทวีความรุนแรงขึ้น เขาตะโกนถามคนที่เพิ่งเดินชนเขาว่า
             “ นี่ คุณตาบอดรึไงกัน ไม่เห็นแสงโคมไฟของผมหรอ ผมอุตส่าห์ถือมันมาเพื่อให้คุณมองเห็นผมนะเนี่ย ”
            ชายแปลกหน้าตอบชายตาบอดว่า “ นี่คุณตาบอดหรือนี่ คุณไม่เห็นหรอว่าโคมไฟของคุณน่ะมันดับไปแล้ว”
             ชายตาบอดชะงักกับคำตอบที่ได้ไปครู่หนึ่ง แล้วชายแปลกหน้าคนนั้นก็ขอโทษชายตาบอด
            “ ขอโทษทีครับ ผมก็เป็นคนตาบอดเหมือนกัน ผมมองไม่เห็นว่าคุณก็ตาบอดเหมือนกับผม ” –
            “ ไม่หรอกครับ ผมต่างหากเป็นฝ่ายที่ต้องขอโทษที่ผมหยาบคายกับคุณ ”
             ชายตาบอดทั้งสองรู้สึกอายเป็นอย่างมาก
             หลังจากนั้นชายตาบอดยังคงเดินทางต่อไป และแล้วเขาก็ถูกชนอีกครั้ง ครั้งนี้เขาระวังมากขึ้น เขาถามคนที่เดินชนเขาอย่างสุภาพว่า
            “ ขอโทษครับ ไม่ทราบว่าโคมไฟของผมดับรึเปล่าครับ ”
             ชายแปลกหน้าคนที่สองตอบว่า
            “ เอ้ !! แปลกจริงๆ นั่นมันเป็นคำถามที่ผมต้องถามคุณนี่นา โคมไฟผมดับหรือครับ ”
             ชายทั้งสองหยุดเงียบไปครู่หนึ่งก่อนที่จะถามกันและกันว่า
             “ คุณตาบอดรึเปล่า ?” –
            “ ใช่ !!! ”
             ชายทั้งสองคนตอบพร้อมกัน แล้วชายตาบอดทั้งสองคนก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาเพราะคำตอบของพวกเขาเอง จากนั้นชายตาบอดทั้งสองก็คลำไปที่โคมไฟเพื่อพยายามจะจุดมันขึ้นมาใหม่ ขณะนั้นเองก็มีคนเดินผ่านมา เขาเห็นชายทั้งสองยืนอยู่จึงเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งเพื่อจได้ไม่เดินชนกัน เขาคนนั้นไม่ทราบหรอกว่าชายทั้งที่ยืนอยู่นั้นเป็นคนตาบอด และเมื่อเขาเดินผ่านไปเขายังนึกในใจว่า
             “ บางที ถ้าเราเอาโคมไฟมาด้วยก็คงจะดี จะได้เห็นทางได้ชัดขึ้น และคนอื่นก็จะได้พลอยเห็นทางไปด้วย ”
             โดยไม่มีใครทราบเพื่อนผู้หวังดีของชายตาบอดคนแรกได้ถือโคมไฟเดินทางตามมาอย่างเงียบๆ เพื่อเขาจะได้แน่ใจว่าชายตาบอดเพื่อนของเขาจะเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย เขายิ้มกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และเขาก็หวังว่าเพื่อนของเขาคงได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ชายตาบอดได้เจอในครั้งนี้ด้วยตัวของเขาเอง
             หากท่านอ่านนิทานเรื่องนี้แล้วเข้าใจ กรุณาบอกหน่อยเถอะครับ ว่านิทานเรื่องนี้สอนใจเราว่าอย่างไร

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ชาติไทย

เลือดหนึ่งหยดที่เสียไป ช่วยต่อชีวิตให้กับหนึ่งครอบครัวที่จะเสียคนสำคัญ

เพลงชาติไทยมีประวัติที่ยาวนาน และทุกๆเนื้อร้องที่เขียนขึ้นไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ล้วนแต่กระตุ้นให้คนไทยรู้รักสามัคคี แต่ในวันนี้คนไทยกำลังทำอะไรกันอยู่

เพลงชาติไทยแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ถือเป็น เพลงชาติไทยลำดับที่ 7 ซึ่งประกาศใช้ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย รัฐนิยมฉบับที่ 6 เมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม 2482  ประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) หรือชื่อเดิม ปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit) ตั้งแต่ ปี 2475 ประพันธ์เนื้อร้องโดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
ก่อนหน้านั้นมี เพลงชาติไทย ใช้มาแล้ว 6 เพลง เริ่มต้นระหว่าง ปี 2395 – 2414   ใช้ทำนองเพลง God Save the Queen ในการฝึกทหารของไทยสมัยนั้น ใช้แบบอย่างของประเทศอังกฤษ หมด ดังนั้นเพลง กอด เสฟเดอะควีน (God Save the Queen)จึงใช้เป็นเพลงเกียรติยศ ถวายความเคารพต่อพระ มหากษัตริย์ ใช้สำหรับกองทหารไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2395 ถึง 2414  เรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพ แด่องค์พระมหากษัตริย์โดยเรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ แต่ต่อมาเมื่อ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่แล้วเรียกชื่อว่า เพลงจอมราชจงเจริญ นั่นแหละจึงถือเป็น เพลงชาติลำดับที่ 1   “ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชน...มาน นับรอบร้อย แฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร”

       ในยุค รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส เมืองสิงคโปร์ ในขณะนั้นสิงคโปร์ยังเป็นเมืองขึ้น ของประเทศอังกฤษอยู่ กองทหารดุริยางค์ สิงคโปร์ บรรเลงเพลงกอดเสฟเดอะควีน เพื่อถวายความเคารพ
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักดีว่าประเทศมีความจำเป็น จะต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเองขึ้น เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติครั้นเมื่อทรง เสด็จกลับถึงพระนคร จึงได้โปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษา หาเพลงชาต ิที่มีความเป็นไทย มาใช้แทนเพลงกอดเสฟเดอะควีน คณะครูดนตรีไทย ได้เลือก เพลงทรง พระสุบัน หรือเรียกอีกอย่างว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสม เด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ ให้มีความเป็น สากลขึ้น โดย เฮวุดเซน (Heutsen) นับเป็น เพลงชาติไทยฉบับที่สอง ใช้บรรเลงในระหว่างปี พ.ศ. 2414-2431
      เพลงชาติลำดับที่ 3 นั้นเกิดขึ้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 เช่นกัน โดยประพันธ์ทำนองโดย นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) คำร้องเป็นบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติในระหว่าง ปี 2431 – 2475 ใช้มายาวนานเพราะมี ท่วงทำนองไพเราะ เนื้อหาสมบูรณ์ และทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ในนามของ เพลงสรรเสริญพระบารมี นั่นเอง
      เพลงชาติลำดับที่ 4 เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (24 มิถุนายน 2475) แล้ว เพลงชาติลำดับนี้เป็นเพลงชาติชั่วคราว (เนื่องจากมีการเตรียมการโดยสังเขปที่จะสร้างเพลงชาติขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิกของคณะผู้ก่อการท่านหนึ่งมอบหมายให้ พระเจนดุริยางค์ เป็น ผู้ประพันธ์ แต่ยัง ไม่เสร็จ เลยต้องใช้ทำนองเพลงไทยเดิม คือเพลงมหาชัย ไปพลางก่อน) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้ ประพันธ์เนื้อร้อง ซึ่งมีเนื้อหาปลุกใจให้คนไทยเกิดความรักชาติ และเกิดความสามัคคี ตลอดจนให้เลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

ยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน ธรรมนูญสถาปนาพรรษาใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

เพลงชาติลำดับนี้ใช้ในช่วงสั้น ๆ ไม่ถึง 1 เดือน ก็เปลี่ยนแปลงไป

เพลงชาติลำดับที่ 5 ประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2475  และประพันธ์เนื้อร้องโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บรรเลงครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อ วันที่ 7กรกฎาคม 2475 แต่ก็ใช้อยู่เพียงระหว่าง ปี 2475 – 2477 โดยมีเนื้อร้องดังนี้

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของชาติไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสรเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย

กำเนิดของเพลงชาติลำดับที่ 6 นั้น สืบเนื่องมาจากการที่ในปีพุทธศักราช 2477  รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเพลงชาติขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน และมีกรรมการท่านอื่นร่วมด้วยดังนี้คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์ พระเจนดุริยางค์ หลวงชำนาญนิติเกษตร จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับเพลงชาติโดยเฉพาะ ผลการตัดสินปรากฎว่า มีเพลงชาติแบบไทย และแบบสากล อย่างละเพลงคือ แบบไทยได้แก่เพลงชาติของจางวางทั่ว พาทยโกศลที่แต่งขึ้นจากเพลงไทยเดิมชิ่อว่า “ตระนิมิตร” ส่วนทางสากลได้แก่ เพลงของ พระเจนดุริยางค์ ที่แต่งไว้แล้ว ในเวลาต่อมาคณะกรรมการชุดนี้ ได้พิจารณาว่า เพลงชาตินั้นควรจะมีลักษณะ ที่บ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีสองเพลงอาจทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ลดลง จึงร่วมกันพิจารณาใหม่ ในที่สุดตกลงว่าให้มีทางสากลเพลงเดียวคือ แบบทำนองสากลของพระเจนดุริยางค์ จึงได้จัดให้มีการประกวดบทร้องขึ้นใหม่ คณะกรรมการได้สรุปผลให้บทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล และบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา ได้รับรางวัล และตัดสินให้บทร้องของขุนวิจิตรมาตราได้รับรางวัลชนะเลิศ

บทร้องที่คณะกรรมการคัดเลือกมีดังนี้

        บทของนายฉันท์ ขำวิไล

เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย สยามมิวายอยู่มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย

        บทของขุนวิจิตรมาตรา

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย สถาปนาสยามให้เทอดไท ไชโย

ในปีพุทธศักราช 2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากคำว่า “สยาม” มาเป็น “ไทย” ทำให้จำต้องแก้ไขบทร้องในเพลงชาติด้วย รัฐบาลจึงได้จัดประกวดบทร้องเพลงชาติไทยขึ้นใหม่ผลการประกวด ปรากฎผู้ชนะได้แก่ นายพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งเข้าประกวดในนามกองทัพบก และให้ใช้ทำนองขับร้องเพลงชาติไทย ของพระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่เดิม (ดังได้กล่าวแล้วในย่อหน้าแรก) กลายเป็นเพลงชาติลำดับที่ 7 (ปัจจุบัน) ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

“ ประเทศไ ทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย ”

        พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ มีความปราบปลื้มและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับได้สั่งเสียบุตร ธิดา ไว้ว่า “ฉันได้สั่งบุตรธิดาของฉันไว้ทุกคนว่า ในกาลภายหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียณอายุลาโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาสะ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้ มาเปิดให้ฟังให้จงได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจ อันไม่มีเสื่อมคลายตราบสิ้นปราณ”

คัดลอก ดัดแปลงจาก ห้องสมุดทางทหาร กองทัพบกไทย

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปางพระพุทธรูปประจำปีเกิด

ปางพระพุทธรูปประจำปีเกิด

-

พระประจำปีชวด

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดอาฬวกยักษ์

-

ปางโปรดอาฬวกยักษ์

-

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาทรงแสดงธรรม เป็นลักษณะเดียวกับปางปฐมเทศนา บางแบบพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า)

-

พระประจำปีฉลู

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา

-

ปางโปรดพุทธมารดา

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์

-

พระประจำปีฉลู

จำหน่ายพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

-

ปางห้ามญาติ

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกับปางห้ามสมุทร นิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง

-

พระประจำปีขาล

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม

-

ปางโปรดพกาพรหม

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน บนเศียรพกาพรหมซึ่งประทับหลังโคอุสุภราช พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ประสานกันอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำอยู่ในอาการสังวร

-

พระประจำปีเถาะ

จำหน่ายพระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศพรรชิต

-

ปางอธิษฐานเพศพรรชิต

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางบนพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย (บางตำราใช้ปางปัจจเวกขณะเป็นพระประจำปีเถาะ)

-

พระประจำปีมะโรง

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร

-

ปางโปรดองคุลิมาลโจร

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย

-

พระประจำปีมะเส็ง

จำหน่ายพระพุทธรูปปางทรงรับอุทกัง

-

ปางทรงรับอุทกัง

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

-

พระประจำปีมะเมีย

จำหน่ายพระพุทธรูปปางสนเข็ม

-

ปางสนเข็ม

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้ายเป็นกิริยาสนเข็ม

-

พระประจำปีมะแม

จำหน่ายพระพุทธรูปปางประทานพร (ยืน)

-

ปางประทานพร (ยืน)

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง

-

พระประจำปีวอก

จำหน่ายพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ

-

ปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

-

พระประจำปีระกา

จำหน่ายพระพุทธรูปปางรับมธุปายาส

-

ปางรับมธุปายาส

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ห้อยพระบาท

-

พระประจำปีระกา

จำหน่ายพระพุทธรูปปางเสวยมธุปายาส

-

ปางเสวยมธุปายาส

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ประคองถาดมธุปายาส

-

พระประจำปีจอ

จำหน่ายพระพุทธรูปปางชี้อัครสาวก

.

ปางชี้อัครสาวก

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาชี้นิ้วออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวก ให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

-

พระประจำปีกุน

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี  จำหน่ายพระพุทธรูปปางทรงเครื่อง

-

ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ ปางทรงเครื่อง

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

ขอบคุณที่มา

ข้อมูลจาก www.dhammathai.org

อาฬวกยักษ์

 

จากหนังสือธรรมะเอกเขนก (ขวัญ เพียงหทัย)

แก่นแก้วเป็นเด็กชายตัวอ้วนปั๊ก หน้ากลม แก้มยุ้ย เพื่อนๆ เรียกเขาว่ายักษ์เล็ก เขาเป็นคนขี้เล่น จึงทำท่าเหมือนยักษ์ไล่แกล้งเพื่อนตามสมญาที่เพื่อนตั้งให้

วันหนึ่ง คุณครูศม (อ่านว่า ศะมะ แปลว่าผู้มีความสุขอันเกิดจากความสงบ) ซึ่งเป็นนักเล่านิทาน นั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ร่มรื่น พวกเด็กๆ รุมล้อมเข้ามาจะฟังนิทาน เมื่อคุณครูศมถามว่า วันนี้จะฟังเรื่องอะไรดี มะระก็ยกมือขึ้น และถามว่า

“คุณครูครับ ยักษ์มีจริงมั้ยครับ”

คุณครูศมบอกว่า “มีจริงซีครับ ในชาดกก็มีเรื่องยักษ์หลายเรื่อง”

เด็กๆ จึงขอให้คุณครูเล่าเรื่องยักษ์ให้ฟัง

“ยักษ์ตนนี้นะ เขาชื่ออาฬวกยักษ์ อาศัยอยู่โคนต้นไทร เขาได้รับพรจากท้าวเวสวัณเป็นหัวหน้ายักษ์นะ ได้รับพรว่า ถ้าใครเข้ามาในร่มเงาต้นไทรต้นนี้เวลาเที่ยง อนุญาตให้จับกินได้”

“กินหมดเลย” แก่นแก้วลุกขึ้นยืน เอามือตบพุง พวกเด็กๆ หัวเราะกัน แล้วฟังคุณครูต่อ

“ก็มีพระราชาชื่อ อาฬวกะ”

“ชื่อเหมือนกันเลย” เด็กๆ ร้อง คุณครูยิ้มพยักหน้า

“ใช่ ชื่อคนมาจากชื่อเมืองไง เขาเป็นพระราชาของเมืองอาฬวี เลยชื่ออาฬวกะ พระราชาออกไปล่าเนื้อในป่ากับลูกน้อง แล้วบอกกันว่า ถ้าเนื้อหนีไปทางคนไหนนะ คนนั้นจะต้องมีโทษ แต่เนื้อก็หนีไปทางพระราชานั่นแหละ

พระราชาเลยต้องไปตามจับเนื้อมา พอจับได้แล้วก็ไปนั่งพักที่โคนต้นไทร ตอนเที่ยงพอดีเป๊ะ”

“อ้าว ก็โดนยักษ์กินสิ” แก่นแก้วกระโดดเหยาะๆ

“ใช่ พอยักษ์จะจับกิน พระราชาก็ขอร้องว่า อย่ากินเลย ถ้าปล่อยพระองค์ไป จะส่งคนใส่ถาดมาให้ยักษ์กินทุกวันเลย ยักษ์ก็เลยปล่อยไป

พระราชากลับไป แล้วไปเล่าให้ผู้รักษาพระนครฟัง ให้เขาจัดคนไปให้ยักษ์กิน เขาถามว่า มีกำหนดเวลาหรือเปล่า ว่าจะส่งไปให้กินนานเท่าไหร่ พระราชาบอกว่าไม่ได้กำหนด เขาทูลว่าไม่ได้กำหนดเป็นเรื่องยาก เพราะคนเราจะทำได้แค่ตามกำหนดเท่านั้น นักเรียนว่ายากมั้ยครับ”

        ปางโปรดอาฬวกยักษ์

 

“ผมว่ายาก” มะระร้อง “ยักษ์กินทุกวัน เดี๋ยวคนก็หมดหรอก”

“หมด ก็กลับมากินพระราชา” น้ำตาลสด เด็กหญิงผมเปียน่ารักพูดอย่างตื่นเต้น คุณครูศมหัวเราะเอ็นดูเด็กๆ

“แล้วเขาทำยังไงครับคุณครู” แก่นแก้วอยากรู้

“ตอนแรกเขาไปเอานักโทษมา ส่งไปให้ยักษ์กินทีละคนจนหมดคุกเลย พวกชาวบ้านร่ำลือกันว่า พระราชาจับโจรได้เอาไปให้ยักษ์กิน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ค่อยมีใครเป็นโจรเลย

พระราชาออกอุบาย เอาสิ่งของของพระองค์ไปทิ้งไว้ที่ถนน ถ้าใครมาหยิบก็เป็นไง จับเลยใช่มั้ยแล้วมีคนมาหยิบมั้ย” “ม่ายมี” เด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกัน

“ใช่แล้ว พวกอำมาตย์ปรึกษากันว่า จะเอาคนแก่ในเมืองให้ยักษ์กิน แต่พระราชาบอกว่า คนแก่มีญาติเยอะ เดี๋ยวโดนประท้วง ไม่เอาหรอก พวกนั้นก็เสนอให้เอาเด็กทารก พระราชาตกลง”

“ทารกขนาดไหนครับ” มะระกลัว“ผมพ้นทารกอ๊ะยัง”

“โอ้ย เขาไม่จับแกไปกินหรอก แกมันขม” แก่นแก้วว่า มะระยิ้มแฉ่ง คุณครูศมหัวเราะอีก

“เราพาเด็กๆหนีก็ได้” น้ำตาลสดผู้ฉลาดเฉลียวไม่กลัว

“ใช่ คนในเมืองเลยพาเด็กทารกไปไว้เมืองอื่น ที่ยังอยู่ก็ถูกจับไป เป็นอย่างนี้อยู่ ๑๒ ปี

วันหนึ่ง หาเด็กที่ไหนไม่ได้ เหลือแต่อาฬวกกุมาร โอรสของพระราชาเท่านั้น พวกอำมาตย์ทูลพระราชา พระราชาบอกว่าเรารักลูกเรา คนอื่นเขารักลูกเขาเหมือนกัน เมื่อให้ลูกคนอื่นได้ ก็ต้องให้ลูกของตัวเองได้ ความรักลูกนั้นไม่เท่ากับรักตัวเอง จงให้ลูกเรากับยักษ์ไปเถอะ”

“พ่อใจร้าย” น้ำตาลสดค้อนสะบัดหน้าจนหางเปียแกว่ง

“วันนั้น พระพุทธเจ้าของเราตรวจดูสัตว์โลกทรงเห็นว่าวันนี้อาฬวกยักษ์จะได้บรรลุเป็นโสดาบัน ส่วนราชกุมารต่อไปในอนาคตจะได้เป็นอนาคามี โสดาบันคืออะไร ลูก มีใครตอบได้มั้ยครับ”

ใบไม้ผู้นั่งเงียบมานาน ฟังอยู่ด้วยความระทึก ก็ยกมือขึ้น “ทราบค่ะ”

คุณครูศมถามใบไม้ ผู้สวมแว่นแล้วตั้งแต่เดือนก่อน ด้วยความที่เป็นผู้คงแก่เรียน

“แปลว่า ได้บรรลุธรรมขั้นที่ ๑ ค่ะ”

“ใครบอกใบไม้จ๊ะ” คุณครูศมถาม

“คุณพ่อค่ะ คุณพ่อบอกว่า คนที่เขาบวชเรียนสูงๆ เขาจะได้บรรลุธรรม แต่ต้องมี ๔ ขั้น ถึงจะสำเร็จค่ะ ๔ ขั้นก็มี โสดาบันขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ สกทาคามี ขั้นที่ ๓ อนาคามี ขั้นที่ ๔ อรหันต์”

“โอ้โฮ ท่องเก่งจัง” มะระชม “ยังงี้มะระจำไม่ได้หรอก”

“นายเคยจำอะไรได้มั่งล่ะ” น้ำตาลสดแหวใส่

“ไม่เอา พูดกันดีๆ” คุณครูศมเตือน “ใบไม้เก่งมาก จำที่คุณพ่อบอกได้”

“คุณครูเล่าต่อซีคะ” น้ำตาลสดอยากฟัง

“เอ้า พระพุทธเจ้าจะไปโปรดยักษ์ ก็เลยไปที่บ้านของยักษ์ แต่ตอนนั้นยักษ์ไม่อยู่ ไปประชุมที่ป่าหิมวันต์”

“เหมือนพ่อผมเลย ประชุมยัน” แก่นแก้วบ่นอุบอิบ

“พระพุทธเจ้าไปยืนอยู่หน้าบ้านยักษ์ คนเฝ้าบ้านออกมาบอกว่ายักษ์ไม่อยู่ พระพุทธเจ้าบอกว่าจะเข้าไปคอย เขาบอกว่า เขาจะต้องไปบอกยักษ์ก่อน เพราะยักษ์คงไม่ชอบใจ ถ้ามีใครมาที่พักของเขา คนเฝ้านี่ชื่อคัทรภะ เขาเหาะไปหายักษ์

พระพุทธเจ้าเข้าไปในที่อยู่ของยักษ์ ทรงเปล่งพระรัศมีสีทอง พอพวกผู้หญิงของยักษ์ได้เห็นรัศมีสีทองก็มานั่งล้อมพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ผู้หญิงพวกนั้นด้วย

ในตอนนั้นมียักษ์อีก ๒ ตน ชื่อสาตาคีรี กับเหมวตา นี่เป็นยักษ์ดี คิดจะไปถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วค่อยไปประชุมที่ป่าหิมวันต์

พอเหาะมาถึงที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ พวกยักษ์ก็เหาะผ่านไม่ได้ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าประทับที่ใด ท้องฟ้าข้างบนตรงนั้น ใครจะมาเหาะไปเหาะมาไม่ได้นะ”

“ตกปุ๊กลงมา” มะระร้อง

“ยักษ์ ๒ ตนก็ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น พอเห็นพระพุทธเจ้าก็รีบลงมา...”

“ถวายบังคมพ่ะย่ะค่ะ” แก่นแก้วยกสองมือขึ้นเหนือหัว

“แล้วพวกยักษ์ก็ไปป่าหิมวันต์ ไปบอกข่าวดีกับอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ก็โกรธที่พระพุทธเจ้ามาอยู่ที่ของตัว”

“พระพุทธเจ้าดังจะตาย ไม่รู้จักได้ไง” ใบไม้บ่น คุณครูศมยังคงเล่าต่อไป

“ยักษ์ไม่ชอบใจ ก็เลยทดลองแสดงฤทธิ์ เพื่อจะลองดีกับพระพุทธเจ้า เช่น บันดาลให้เกิดลมบ้าหมู ที่พัดแรงขนาดถอนต้นไม้ได้...”

แก่นแก้วลุกขึ้นทำท่าบันดาลประกอบ “อ๊ากก...”

“แต่ลมไม่อาจทำให้ชายจีวรของพระพุทธเจ้าไหวได้เพราะพระพุทธเจ้าอธิษฐานไว้ ยักษ์ก็ทำให้แผ่นหินตกลงมา...” แก่นแก้วทำท่ายกหิน “แต่แผ่นหินก็ได้กลายเป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า ยักษ์บันดาลให้ความมืดแผ่เข้ามา แต่พอมาถึงพระพุทธเจ้าความมืดก็หายไป ยักษ์เข้าไปหาพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกผี แต่เข้าใกล้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ยักษ์คิดว่า เราปล่อยภูษาวุธดีกว่า ภูษาคืออะไร ใบไม้”

“ผ้าค่ะ” ใบไม้ตอบรวดเร็ว

“ใช่ ผ้าที่เป็นอาวุธ เป็นอาวุธสำคัญของยักษ์ พอปล่อยออกไป อาวุธนั้นก็ส่งเสียงน่ากลัวในอากาศ...”

“จ๊ากกกกก.....” เสียงของแก่นแก้วดังลั่น ทำท่ากำลังภายใน แต่ดูเหมือนไอ้มดแดง

“แล้วผ้าก็ตกลงมาเหมือนผ้าเช็ดเท้า” คุณครูศมเล่าต่อ แก่นแก้วระทวยลงไปเรื่อยๆ แล้วนอนแผ่ลงกับสนามหญ้า

“ยักษ์คิดว่า เอ๊ ทำไมผ้าภูษาวุธนี่ถึงทำร้ายพระพุทธเจ้าไม่ได้ สงสัยพระพุทธเจ้าจะเป็นคนมีเมตตามาก เราต้องยั่วให้พระพุทธเจ้าโกรธเสียก่อน จึงจะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ ยักษ์บอกพระพุทธเจ้าว่า ให้ออกไปจากบัลลังก์ของตน เพื่อให้พระพุทธเจ้าโกรธ พระพุทธเจ้าคิดว่า ยักษ์เป็นคนหยาบคาย ต้องเอาชนะด้วยความอ่อนโยน จึงเสด็จลงจากบัลลังก์

ยักษ์คิดว่า เอ๊ ว่าง่ายดีแฮะ บอกคำเดียวก็ลงมาแล้ว เดี๋ยวลองใหม่ ก็บอกอีก ให้พระพุทธเจ้าเข้ามานั่งบัลลังก์ พระพุทธเจ้าก็เข้ามา ทำอย่างนี้อยู่ ๓ หน พระพุทธเจ้ายอมตาม เพื่อให้ยักษ์มีใจอ่อนโยนจะได้ฟังธรรมได้ เหมือนพ่อแม่ ที่ตามใจลูกก่อน เพื่อให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการทีหลัง”

“พ่อหนูก็ทำอย่างนี้” ใบไม้พูดเบาๆ

“ยักษ์ก็คิดว่า จะแกล้งพระพุทธเจ้าอย่างนี้ไปทั้งคืน ก็สั่งให้ออกไปแล้วเข้ามาอีก แต่พระพุทธเจ้าไม่ทำตามแล้ว บอกยักษ์จะทำอะไรก็ทำเถอะ ยักษ์ก็เลยจะแกล้งพระพุทธเจ้าด้วยการถามปัญหา ยักษ์ถามว่า

อะไรเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้ว จะนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย ชีวิตอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด นักเรียนตอบคำถามยักษ์ได้มั้ยครับ”

คุณครูศมถาม ทุกคนส่ายหัวดิก แก่นแก้วตอบว่า

“ผมไม่ใช่พระพุทธเจ้า”

คุณครูศมหัวเราะ “พระพุทธเจ้าตอบอย่างนี้นะ

ศรัทธาเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐของคนในโลกนี้

ธรรมที่คนประพฤติดีแล้ว จะนำความสุขมาให้

ความสัตย์เป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย

ชีวิตของคนที่อยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด

ยักษ์ถามต่อไปอีก ๔ คำถามว่า บุคคลจะข้ามโอฆะได้ยังไง ข้ามอรรณพได้ยังไง ล่วงทุกข์ได้ยังไง และบริสุทธิ์ได้ยังไง

คำว่า โอฆะ ปกติแปลว่าห้วงน้ำ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงน้ำธรรมดาแต่หมายถึงกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา คือคนที่มีศรัทธาย่อมจะเชื่อกรรมและผลของกรรม ตั้งใจทำดีไม่ทำชั่ว เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำตามที่ท่านสอน แล้วก็จะชนะกิเลสได้

ส่วนคำว่า อรรณพ คือห้วงน้ำที่ใหญ่กว่าโอฆะ คือสังสารวัฏ คนที่ไม่ประมาทจึงจะข้ามไปได้ ถ้าคนไหนประมาท ชอบทำบาป ก็จะข้ามห้วงน้ำนี้ไปไม่พ้น ได้แต่วนเวียนอยู่ ต้องเป็นคนที่หมั่นทำความเพียร ปฏิบัติธรรมด้วยความตั้งใจ ก็จะข้ามห้วงน้ำคือสังสารวัฏอันนี้ได้”

“สังสารวัฏคืออะไรคะคุณครู” น้ำตาลสดถาม

“สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของคนเราที่มีอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ที่ไม่ต้องมาเกิดใหม่ ออกไปจากสังสารวัฏได้”

“แล้วอีก ๒ คำถามล่ะคะ คุณครู” ใบไม้เตือน

“อ๋อ ยักษ์ถามว่า จะล่วงทุกข์ได้ยังไง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้องมีความเพียร คือความพยายามจึงจะพ้นทุกข์ได้

และถามว่าคนเราจะบริสุทธิ์ได้ยังไง ตอบว่าต้องมีปัญญาจึงจะบริสุทธิ์ได้

ยักษ์ถามต่อว่า บุคคลทำยังไงถึงจะได้ปัญญา ทำยังไง ถึงจะได้เงินทอง ทำยังไงถึงจะได้ชื่อเสียง ทำยังไงถึงจะผูกมิตรไว้ได้ ทำยังไงเวลาตายไปแล้วจะไม่โศกเศร้า

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าคนที่เชื่อธรรมของพระอรหันต์ ฟังอย่างดี ตั้งใจไม่ประมาท ย่อมได้ปัญญา

คนจะหาเงินทองได้ต้องขยัน

คนจะได้ชื่อเสียงต้องมีสัจจะ คือพูดจริง รักษาคำพูดจะผูกมิตรกับใครๆ ต้องเป็นผู้ให้ นักเรียน ถ้ามีคนที่ไม่เคยให้ใครเลย ขี้เหนียวมากๆ เพื่อนจะอยากคบมั้ย”

เด็กๆ หัวเราะส่ายหน้าทุกคน

“อีกข้อคือ คนที่มีธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ๔ ประการคือ ๑ สัจจะ ๒ ทมะคือฝึกตนเอง ๓ ขันติ คือความอดทน และ ๔ จาคะ คือการบริจาค ถ้าใครทำได้อย่างนี้ ตอนอยู่ก็มีความสุข ตายไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก หมายถึงได้ไปเกิดที่ดี

คำตอบคำถามนี่อาจจะยากสำหรับนักเรียน แต่ให้ฟังเอาไว้ก่อนนะ อีกหน่อยโตขึ้นจะเข้าใจมากกว่านี้

แต่ยักษ์ฟังพระพุทธเจ้าแล้วก็เข้าใจ เลยได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ตอนนั้นเป็นเวลาเช้า ทหารนำพระโอรสคือ อาฬวกกุมารมามอบให้ยักษ์ ยักษ์ไม่กินแล้วเพราะเป็นโสดาบันไปแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงรับอาฬวกกุมาร แล้วทรงให้พรให้อายุยืน ให้มีความสุขปราศจากโรค มีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก ขอให้กุมารเคารพพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วพระพุทธเจ้าก็คืนพระกุมารให้ทหารไป

พระกุมารโตขึ้นมีพระนามว่า อัตถกอาฬวก ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี

เป็นไง จบแล้ว”

“ก็สนุกดีค่ะ” น้ำตาลสดพูด

“ผมชอบตอนรบกัน” แก่นแก้วว่าแล้วทำท่าไอ้มดแดง

“เอาล่ะ นักเรียน เห็นมั้ยว่ายักษ์ก็กลับตัวเป็นยักษ์ดีได้ แต่เราทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาความเป็นคนดีของเราตลอดไปนะครับ”

“นี่คนดีหรือคะ” น้ำตาลสดว่าพลางชี้ไปทางแก่นแก้ว

“หนูว่าเขาบ๊องๆ”

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชาดกนิทาน

พระยานกคุ่มโพธิสัตว์

ในอดีตกาล ในประเทศนั้นนั่นแหละในแคว้นมคธ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิด "นกคุ่ม" เกิดจากท้องมารดา ในเวลาทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมา ได้เป็นลูกนกคุ่ม มีตัวประมาณเท่าดุมเกวียนบรรทุกสินค้า ขนาดใหญ่. ลำดับนั้น บิดามารดาให้พระโพธิสัตว์นั้นนอนในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูด้วยจะงอยปาก. พระโพธิสัตว์นั้นไม่มีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศ หรือไม่มีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนที่ดอน และไฟป่าย่อมไหม้ประเทศนั้นทุกปีๆ.
แม้สมัยนั้น ไฟป่านั้นก็ไหม้ประเทศนั้นเสียงดังลั่น. หมู่นกพากันออกจากรังของตนๆ ต่างกลัวต่อมรณภัย ส่งเสียงร้องหนีไป บิดามารดา แม้ของพระโพธิสัตว์ก็กลัวต่อมรณภัย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไป.
พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นเอง ชะเง้อคอแลเห็นไฟป่ากำลังไหม้ตลบมา จึงคิดว่า ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศไซร้ เราก็จะพึงโบยบินไปที่อื่น ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนบกได้ไซร้ เราก็จะย่างเท้าไปที่อื่นเสีย ฝ่ายบิดามารดาของเราก็กลัวแต่มรณภัย ทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว เมื่อจะป้องกันตน จึงได้หนีไป. บัดนี้ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง วันนี้..เราจะทำอย่างไรหนอ จึงจะควร..?

คุณแห่งศีล, คุณแห่งสัจจะ, คุณแห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้า

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีล ย่อมมีอยู่ในโลกนี้ ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาล ชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายประทับนั่งที่พื้นต้นโพธิ ได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งแล้ว ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ ย่อมมีอยู่ และคุณของพระธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ทรงรู้แจ้งแล้วย่อมมีอยู่.
เออ..ก็ความสัจอย่างหนึ่ง ย่อมมีอยู่ในเราแท้ สภาวธรรมอย่างหนึ่งย่อมมีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะรำลึกถึงอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคุณทั้งหลายที่อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรู้แจ้งแล้ว ถือเอาสภาวธรรม คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในเรา กระทำสัจกิริยาให้ไฟถอยกลับไป กระทำความปลอดภัยแก่ตนและหมู่นกที่เหลือในวันนี้ ย่อมควร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ ความสะอาด และความเอ็นดู มีอยู่ในโลก ด้วยความสัจนั้น ข้าพเจ้าจักทำสัจกิริยาอันยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าพิจารณากำลังแห่งธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะ ขอทำสัจกิริยา.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ระลึกถึง พระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรินิพพาน ไปแล้วในอดีต แล้วปรารภสภาวะ คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน เมื่อจะทำสัจกิริยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเรา ออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
อธิบาย : บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ ปกฺขา อปตนา ความว่า ชื่อว่า ปีกทั้งสองของเรามีอยู่ คือเกิดมีอยู่แต่ไม่อาจบิน คือไปทางอากาศด้วยปีกเหล่านั้นได้ เหตุนั้น จึงชื่อว่าบินไม่ได้.
บทว่า สนฺติ ปาทา อวญฺจนา ความว่า แม้เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่แต่ไม่อาจเดิน คือไปโดยการย่างเท้าไปด้วยเท้าทั้งสองนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเดินไม่ได้.
บทว่า มาตา ปิตา จ นิกฺขนฺตา ความว่า อนึ่ง แม้มารดาบิดาผู้จะนำเราไปที่อื่น แม้นั้นก็ออกไปแล้ว เพราะกลัวตาย พระโพธิสัตว์เรียกไฟว่า ชาตเวทะ.
จริงอยู่ ไฟนั้นพอเกิดก็รู้ คือปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า "ชาตเวทะ" เกิดก็รู้. ด้วยบทว่า ปฏิกฺกม นี้ พระโพธิสัตว์สั่งไฟว่า จงถอยไป คือจงกลับไป. ดังนั้น พระมหาสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นแหละได้ทำสัจกิริยาว่า ถ้าความที่ปีกทั้งสองของเรามี ๑ ภาวะคือการเหยียดปีกทั้งสองบินไปทางอากาศไม่ได้ ๑ ความที่เท้าทั้งสองมี ๑ ภาวะคือการยกเท้าทั้งสองนั้นเดินไปไม่ได้ ๑ ความที่มารดาบิดาทิ้งเราไว้ในรังนั่นแหละแล้วหนีไป ๑ ทั้งหมดเป็นตัวสภาวะทั้งนั้น ดูก่อนไฟ ด้วยคำสัจนี้ ท่านจงกลับไปจากที่นี้.
พร้อมกับสัจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น ไฟได้ถอยกลับไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส ก็แหละ เมื่อจะถอยไป ก็ไหม้ไปยังที่อื่นในป่า ทั้งดับแล้วในที่นั้นเอง เหมือนคบเพลิงอันบุคคลให้จมลงในนํ้า ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อเราทำสัจจะ เปลวไฟอันรุ่งเรืองใหญ่หลีกไป ๑๖ กรีส พร้อมด้วยคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟอันตกถึงนํ้าก็ดับไป ฉะนั้น สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมี ของเรา ดังนี้.

ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐาน บริเวณนี้ไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัปนี้

ก็สถานที่นี้นั้นเกิดเป็นปาฏิหาริย์ ชื่อว่าตั้งอยู่ชั่วกัป เพราะไฟจะไม่ไหม้ในกัปนี้แม้ทั้งสิ้น. พระโพธิสัตว์ ครั้นทำสัจกิริยาอย่างนี้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปตามยถากรรม.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่นี้ เป็นกำลังของเราในบัดนี้ หามิได้ ก็กำลังนั่นเป็นของเก่า เป็นสัจพลังของเราเองในครั้งเป็นลูกนกคุ่ม ดังนี้.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต.
ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มารดาบิดาในครั้งนั้นคงเป็น มารดาบิดา อยู่ตามเดิมในบัดนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม ได้เป็นเราตถาคต แล.