วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปางพระพุทธรูปประจำปีเกิด

ปางพระพุทธรูปประจำปีเกิด

-

พระประจำปีชวด

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดอาฬวกยักษ์

-

ปางโปรดอาฬวกยักษ์

-

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาทรงแสดงธรรม เป็นลักษณะเดียวกับปางปฐมเทศนา บางแบบพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า)

-

พระประจำปีฉลู

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา

-

ปางโปรดพุทธมารดา

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์

-

พระประจำปีฉลู

จำหน่ายพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

-

ปางห้ามญาติ

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกับปางห้ามสมุทร นิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง

-

พระประจำปีขาล

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม

-

ปางโปรดพกาพรหม

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน บนเศียรพกาพรหมซึ่งประทับหลังโคอุสุภราช พระหัตถ์ทั้งสองวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ประสานกันอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำอยู่ในอาการสังวร

-

พระประจำปีเถาะ

จำหน่ายพระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศพรรชิต

-

ปางอธิษฐานเพศพรรชิต

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางบนพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย (บางตำราใช้ปางปัจจเวกขณะเป็นพระประจำปีเถาะ)

-

พระประจำปีมะโรง

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร

-

ปางโปรดองคุลิมาลโจร

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย

-

พระประจำปีมะเส็ง

จำหน่ายพระพุทธรูปปางทรงรับอุทกัง

-

ปางทรงรับอุทกัง

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ (เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

-

พระประจำปีมะเมีย

จำหน่ายพระพุทธรูปปางสนเข็ม

-

ปางสนเข็ม

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้ายเป็นกิริยาสนเข็ม

-

พระประจำปีมะแม

จำหน่ายพระพุทธรูปปางประทานพร (ยืน)

-

ปางประทานพร (ยืน)

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ (อก) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลง

-

พระประจำปีวอก

จำหน่ายพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ

-

ปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

-

พระประจำปีระกา

จำหน่ายพระพุทธรูปปางรับมธุปายาส

-

ปางรับมธุปายาส

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ห้อยพระบาท

-

พระประจำปีระกา

จำหน่ายพระพุทธรูปปางเสวยมธุปายาส

-

ปางเสวยมธุปายาส

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ประคองถาดมธุปายาส

-

พระประจำปีจอ

จำหน่ายพระพุทธรูปปางชี้อัครสาวก

.

ปางชี้อัครสาวก

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาชี้นิ้วออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวก ให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

-

พระประจำปีกุน

จำหน่ายพระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี  จำหน่ายพระพุทธรูปปางทรงเครื่อง

-

ปางโปรดพญาชมพูบดี หรือ ปางทรงเครื่อง

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

ขอบคุณที่มา

ข้อมูลจาก www.dhammathai.org

อาฬวกยักษ์

 

จากหนังสือธรรมะเอกเขนก (ขวัญ เพียงหทัย)

แก่นแก้วเป็นเด็กชายตัวอ้วนปั๊ก หน้ากลม แก้มยุ้ย เพื่อนๆ เรียกเขาว่ายักษ์เล็ก เขาเป็นคนขี้เล่น จึงทำท่าเหมือนยักษ์ไล่แกล้งเพื่อนตามสมญาที่เพื่อนตั้งให้

วันหนึ่ง คุณครูศม (อ่านว่า ศะมะ แปลว่าผู้มีความสุขอันเกิดจากความสงบ) ซึ่งเป็นนักเล่านิทาน นั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ร่มรื่น พวกเด็กๆ รุมล้อมเข้ามาจะฟังนิทาน เมื่อคุณครูศมถามว่า วันนี้จะฟังเรื่องอะไรดี มะระก็ยกมือขึ้น และถามว่า

“คุณครูครับ ยักษ์มีจริงมั้ยครับ”

คุณครูศมบอกว่า “มีจริงซีครับ ในชาดกก็มีเรื่องยักษ์หลายเรื่อง”

เด็กๆ จึงขอให้คุณครูเล่าเรื่องยักษ์ให้ฟัง

“ยักษ์ตนนี้นะ เขาชื่ออาฬวกยักษ์ อาศัยอยู่โคนต้นไทร เขาได้รับพรจากท้าวเวสวัณเป็นหัวหน้ายักษ์นะ ได้รับพรว่า ถ้าใครเข้ามาในร่มเงาต้นไทรต้นนี้เวลาเที่ยง อนุญาตให้จับกินได้”

“กินหมดเลย” แก่นแก้วลุกขึ้นยืน เอามือตบพุง พวกเด็กๆ หัวเราะกัน แล้วฟังคุณครูต่อ

“ก็มีพระราชาชื่อ อาฬวกะ”

“ชื่อเหมือนกันเลย” เด็กๆ ร้อง คุณครูยิ้มพยักหน้า

“ใช่ ชื่อคนมาจากชื่อเมืองไง เขาเป็นพระราชาของเมืองอาฬวี เลยชื่ออาฬวกะ พระราชาออกไปล่าเนื้อในป่ากับลูกน้อง แล้วบอกกันว่า ถ้าเนื้อหนีไปทางคนไหนนะ คนนั้นจะต้องมีโทษ แต่เนื้อก็หนีไปทางพระราชานั่นแหละ

พระราชาเลยต้องไปตามจับเนื้อมา พอจับได้แล้วก็ไปนั่งพักที่โคนต้นไทร ตอนเที่ยงพอดีเป๊ะ”

“อ้าว ก็โดนยักษ์กินสิ” แก่นแก้วกระโดดเหยาะๆ

“ใช่ พอยักษ์จะจับกิน พระราชาก็ขอร้องว่า อย่ากินเลย ถ้าปล่อยพระองค์ไป จะส่งคนใส่ถาดมาให้ยักษ์กินทุกวันเลย ยักษ์ก็เลยปล่อยไป

พระราชากลับไป แล้วไปเล่าให้ผู้รักษาพระนครฟัง ให้เขาจัดคนไปให้ยักษ์กิน เขาถามว่า มีกำหนดเวลาหรือเปล่า ว่าจะส่งไปให้กินนานเท่าไหร่ พระราชาบอกว่าไม่ได้กำหนด เขาทูลว่าไม่ได้กำหนดเป็นเรื่องยาก เพราะคนเราจะทำได้แค่ตามกำหนดเท่านั้น นักเรียนว่ายากมั้ยครับ”

        ปางโปรดอาฬวกยักษ์

 

“ผมว่ายาก” มะระร้อง “ยักษ์กินทุกวัน เดี๋ยวคนก็หมดหรอก”

“หมด ก็กลับมากินพระราชา” น้ำตาลสด เด็กหญิงผมเปียน่ารักพูดอย่างตื่นเต้น คุณครูศมหัวเราะเอ็นดูเด็กๆ

“แล้วเขาทำยังไงครับคุณครู” แก่นแก้วอยากรู้

“ตอนแรกเขาไปเอานักโทษมา ส่งไปให้ยักษ์กินทีละคนจนหมดคุกเลย พวกชาวบ้านร่ำลือกันว่า พระราชาจับโจรได้เอาไปให้ยักษ์กิน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ค่อยมีใครเป็นโจรเลย

พระราชาออกอุบาย เอาสิ่งของของพระองค์ไปทิ้งไว้ที่ถนน ถ้าใครมาหยิบก็เป็นไง จับเลยใช่มั้ยแล้วมีคนมาหยิบมั้ย” “ม่ายมี” เด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกัน

“ใช่แล้ว พวกอำมาตย์ปรึกษากันว่า จะเอาคนแก่ในเมืองให้ยักษ์กิน แต่พระราชาบอกว่า คนแก่มีญาติเยอะ เดี๋ยวโดนประท้วง ไม่เอาหรอก พวกนั้นก็เสนอให้เอาเด็กทารก พระราชาตกลง”

“ทารกขนาดไหนครับ” มะระกลัว“ผมพ้นทารกอ๊ะยัง”

“โอ้ย เขาไม่จับแกไปกินหรอก แกมันขม” แก่นแก้วว่า มะระยิ้มแฉ่ง คุณครูศมหัวเราะอีก

“เราพาเด็กๆหนีก็ได้” น้ำตาลสดผู้ฉลาดเฉลียวไม่กลัว

“ใช่ คนในเมืองเลยพาเด็กทารกไปไว้เมืองอื่น ที่ยังอยู่ก็ถูกจับไป เป็นอย่างนี้อยู่ ๑๒ ปี

วันหนึ่ง หาเด็กที่ไหนไม่ได้ เหลือแต่อาฬวกกุมาร โอรสของพระราชาเท่านั้น พวกอำมาตย์ทูลพระราชา พระราชาบอกว่าเรารักลูกเรา คนอื่นเขารักลูกเขาเหมือนกัน เมื่อให้ลูกคนอื่นได้ ก็ต้องให้ลูกของตัวเองได้ ความรักลูกนั้นไม่เท่ากับรักตัวเอง จงให้ลูกเรากับยักษ์ไปเถอะ”

“พ่อใจร้าย” น้ำตาลสดค้อนสะบัดหน้าจนหางเปียแกว่ง

“วันนั้น พระพุทธเจ้าของเราตรวจดูสัตว์โลกทรงเห็นว่าวันนี้อาฬวกยักษ์จะได้บรรลุเป็นโสดาบัน ส่วนราชกุมารต่อไปในอนาคตจะได้เป็นอนาคามี โสดาบันคืออะไร ลูก มีใครตอบได้มั้ยครับ”

ใบไม้ผู้นั่งเงียบมานาน ฟังอยู่ด้วยความระทึก ก็ยกมือขึ้น “ทราบค่ะ”

คุณครูศมถามใบไม้ ผู้สวมแว่นแล้วตั้งแต่เดือนก่อน ด้วยความที่เป็นผู้คงแก่เรียน

“แปลว่า ได้บรรลุธรรมขั้นที่ ๑ ค่ะ”

“ใครบอกใบไม้จ๊ะ” คุณครูศมถาม

“คุณพ่อค่ะ คุณพ่อบอกว่า คนที่เขาบวชเรียนสูงๆ เขาจะได้บรรลุธรรม แต่ต้องมี ๔ ขั้น ถึงจะสำเร็จค่ะ ๔ ขั้นก็มี โสดาบันขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ สกทาคามี ขั้นที่ ๓ อนาคามี ขั้นที่ ๔ อรหันต์”

“โอ้โฮ ท่องเก่งจัง” มะระชม “ยังงี้มะระจำไม่ได้หรอก”

“นายเคยจำอะไรได้มั่งล่ะ” น้ำตาลสดแหวใส่

“ไม่เอา พูดกันดีๆ” คุณครูศมเตือน “ใบไม้เก่งมาก จำที่คุณพ่อบอกได้”

“คุณครูเล่าต่อซีคะ” น้ำตาลสดอยากฟัง

“เอ้า พระพุทธเจ้าจะไปโปรดยักษ์ ก็เลยไปที่บ้านของยักษ์ แต่ตอนนั้นยักษ์ไม่อยู่ ไปประชุมที่ป่าหิมวันต์”

“เหมือนพ่อผมเลย ประชุมยัน” แก่นแก้วบ่นอุบอิบ

“พระพุทธเจ้าไปยืนอยู่หน้าบ้านยักษ์ คนเฝ้าบ้านออกมาบอกว่ายักษ์ไม่อยู่ พระพุทธเจ้าบอกว่าจะเข้าไปคอย เขาบอกว่า เขาจะต้องไปบอกยักษ์ก่อน เพราะยักษ์คงไม่ชอบใจ ถ้ามีใครมาที่พักของเขา คนเฝ้านี่ชื่อคัทรภะ เขาเหาะไปหายักษ์

พระพุทธเจ้าเข้าไปในที่อยู่ของยักษ์ ทรงเปล่งพระรัศมีสีทอง พอพวกผู้หญิงของยักษ์ได้เห็นรัศมีสีทองก็มานั่งล้อมพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ผู้หญิงพวกนั้นด้วย

ในตอนนั้นมียักษ์อีก ๒ ตน ชื่อสาตาคีรี กับเหมวตา นี่เป็นยักษ์ดี คิดจะไปถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วค่อยไปประชุมที่ป่าหิมวันต์

พอเหาะมาถึงที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ พวกยักษ์ก็เหาะผ่านไม่ได้ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าประทับที่ใด ท้องฟ้าข้างบนตรงนั้น ใครจะมาเหาะไปเหาะมาไม่ได้นะ”

“ตกปุ๊กลงมา” มะระร้อง

“ยักษ์ ๒ ตนก็ดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น พอเห็นพระพุทธเจ้าก็รีบลงมา...”

“ถวายบังคมพ่ะย่ะค่ะ” แก่นแก้วยกสองมือขึ้นเหนือหัว

“แล้วพวกยักษ์ก็ไปป่าหิมวันต์ ไปบอกข่าวดีกับอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ก็โกรธที่พระพุทธเจ้ามาอยู่ที่ของตัว”

“พระพุทธเจ้าดังจะตาย ไม่รู้จักได้ไง” ใบไม้บ่น คุณครูศมยังคงเล่าต่อไป

“ยักษ์ไม่ชอบใจ ก็เลยทดลองแสดงฤทธิ์ เพื่อจะลองดีกับพระพุทธเจ้า เช่น บันดาลให้เกิดลมบ้าหมู ที่พัดแรงขนาดถอนต้นไม้ได้...”

แก่นแก้วลุกขึ้นทำท่าบันดาลประกอบ “อ๊ากก...”

“แต่ลมไม่อาจทำให้ชายจีวรของพระพุทธเจ้าไหวได้เพราะพระพุทธเจ้าอธิษฐานไว้ ยักษ์ก็ทำให้แผ่นหินตกลงมา...” แก่นแก้วทำท่ายกหิน “แต่แผ่นหินก็ได้กลายเป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า ยักษ์บันดาลให้ความมืดแผ่เข้ามา แต่พอมาถึงพระพุทธเจ้าความมืดก็หายไป ยักษ์เข้าไปหาพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกผี แต่เข้าใกล้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ยักษ์คิดว่า เราปล่อยภูษาวุธดีกว่า ภูษาคืออะไร ใบไม้”

“ผ้าค่ะ” ใบไม้ตอบรวดเร็ว

“ใช่ ผ้าที่เป็นอาวุธ เป็นอาวุธสำคัญของยักษ์ พอปล่อยออกไป อาวุธนั้นก็ส่งเสียงน่ากลัวในอากาศ...”

“จ๊ากกกกก.....” เสียงของแก่นแก้วดังลั่น ทำท่ากำลังภายใน แต่ดูเหมือนไอ้มดแดง

“แล้วผ้าก็ตกลงมาเหมือนผ้าเช็ดเท้า” คุณครูศมเล่าต่อ แก่นแก้วระทวยลงไปเรื่อยๆ แล้วนอนแผ่ลงกับสนามหญ้า

“ยักษ์คิดว่า เอ๊ ทำไมผ้าภูษาวุธนี่ถึงทำร้ายพระพุทธเจ้าไม่ได้ สงสัยพระพุทธเจ้าจะเป็นคนมีเมตตามาก เราต้องยั่วให้พระพุทธเจ้าโกรธเสียก่อน จึงจะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ ยักษ์บอกพระพุทธเจ้าว่า ให้ออกไปจากบัลลังก์ของตน เพื่อให้พระพุทธเจ้าโกรธ พระพุทธเจ้าคิดว่า ยักษ์เป็นคนหยาบคาย ต้องเอาชนะด้วยความอ่อนโยน จึงเสด็จลงจากบัลลังก์

ยักษ์คิดว่า เอ๊ ว่าง่ายดีแฮะ บอกคำเดียวก็ลงมาแล้ว เดี๋ยวลองใหม่ ก็บอกอีก ให้พระพุทธเจ้าเข้ามานั่งบัลลังก์ พระพุทธเจ้าก็เข้ามา ทำอย่างนี้อยู่ ๓ หน พระพุทธเจ้ายอมตาม เพื่อให้ยักษ์มีใจอ่อนโยนจะได้ฟังธรรมได้ เหมือนพ่อแม่ ที่ตามใจลูกก่อน เพื่อให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการทีหลัง”

“พ่อหนูก็ทำอย่างนี้” ใบไม้พูดเบาๆ

“ยักษ์ก็คิดว่า จะแกล้งพระพุทธเจ้าอย่างนี้ไปทั้งคืน ก็สั่งให้ออกไปแล้วเข้ามาอีก แต่พระพุทธเจ้าไม่ทำตามแล้ว บอกยักษ์จะทำอะไรก็ทำเถอะ ยักษ์ก็เลยจะแกล้งพระพุทธเจ้าด้วยการถามปัญหา ยักษ์ถามว่า

อะไรเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้ว จะนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย ชีวิตอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด นักเรียนตอบคำถามยักษ์ได้มั้ยครับ”

คุณครูศมถาม ทุกคนส่ายหัวดิก แก่นแก้วตอบว่า

“ผมไม่ใช่พระพุทธเจ้า”

คุณครูศมหัวเราะ “พระพุทธเจ้าตอบอย่างนี้นะ

ศรัทธาเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐของคนในโลกนี้

ธรรมที่คนประพฤติดีแล้ว จะนำความสุขมาให้

ความสัตย์เป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย

ชีวิตของคนที่อยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด

ยักษ์ถามต่อไปอีก ๔ คำถามว่า บุคคลจะข้ามโอฆะได้ยังไง ข้ามอรรณพได้ยังไง ล่วงทุกข์ได้ยังไง และบริสุทธิ์ได้ยังไง

คำว่า โอฆะ ปกติแปลว่าห้วงน้ำ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงน้ำธรรมดาแต่หมายถึงกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา คือคนที่มีศรัทธาย่อมจะเชื่อกรรมและผลของกรรม ตั้งใจทำดีไม่ทำชั่ว เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำตามที่ท่านสอน แล้วก็จะชนะกิเลสได้

ส่วนคำว่า อรรณพ คือห้วงน้ำที่ใหญ่กว่าโอฆะ คือสังสารวัฏ คนที่ไม่ประมาทจึงจะข้ามไปได้ ถ้าคนไหนประมาท ชอบทำบาป ก็จะข้ามห้วงน้ำนี้ไปไม่พ้น ได้แต่วนเวียนอยู่ ต้องเป็นคนที่หมั่นทำความเพียร ปฏิบัติธรรมด้วยความตั้งใจ ก็จะข้ามห้วงน้ำคือสังสารวัฏอันนี้ได้”

“สังสารวัฏคืออะไรคะคุณครู” น้ำตาลสดถาม

“สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของคนเราที่มีอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ที่ไม่ต้องมาเกิดใหม่ ออกไปจากสังสารวัฏได้”

“แล้วอีก ๒ คำถามล่ะคะ คุณครู” ใบไม้เตือน

“อ๋อ ยักษ์ถามว่า จะล่วงทุกข์ได้ยังไง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต้องมีความเพียร คือความพยายามจึงจะพ้นทุกข์ได้

และถามว่าคนเราจะบริสุทธิ์ได้ยังไง ตอบว่าต้องมีปัญญาจึงจะบริสุทธิ์ได้

ยักษ์ถามต่อว่า บุคคลทำยังไงถึงจะได้ปัญญา ทำยังไง ถึงจะได้เงินทอง ทำยังไงถึงจะได้ชื่อเสียง ทำยังไงถึงจะผูกมิตรไว้ได้ ทำยังไงเวลาตายไปแล้วจะไม่โศกเศร้า

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าคนที่เชื่อธรรมของพระอรหันต์ ฟังอย่างดี ตั้งใจไม่ประมาท ย่อมได้ปัญญา

คนจะหาเงินทองได้ต้องขยัน

คนจะได้ชื่อเสียงต้องมีสัจจะ คือพูดจริง รักษาคำพูดจะผูกมิตรกับใครๆ ต้องเป็นผู้ให้ นักเรียน ถ้ามีคนที่ไม่เคยให้ใครเลย ขี้เหนียวมากๆ เพื่อนจะอยากคบมั้ย”

เด็กๆ หัวเราะส่ายหน้าทุกคน

“อีกข้อคือ คนที่มีธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ๔ ประการคือ ๑ สัจจะ ๒ ทมะคือฝึกตนเอง ๓ ขันติ คือความอดทน และ ๔ จาคะ คือการบริจาค ถ้าใครทำได้อย่างนี้ ตอนอยู่ก็มีความสุข ตายไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก หมายถึงได้ไปเกิดที่ดี

คำตอบคำถามนี่อาจจะยากสำหรับนักเรียน แต่ให้ฟังเอาไว้ก่อนนะ อีกหน่อยโตขึ้นจะเข้าใจมากกว่านี้

แต่ยักษ์ฟังพระพุทธเจ้าแล้วก็เข้าใจ เลยได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ตอนนั้นเป็นเวลาเช้า ทหารนำพระโอรสคือ อาฬวกกุมารมามอบให้ยักษ์ ยักษ์ไม่กินแล้วเพราะเป็นโสดาบันไปแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงรับอาฬวกกุมาร แล้วทรงให้พรให้อายุยืน ให้มีความสุขปราศจากโรค มีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก ขอให้กุมารเคารพพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วพระพุทธเจ้าก็คืนพระกุมารให้ทหารไป

พระกุมารโตขึ้นมีพระนามว่า อัตถกอาฬวก ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี

เป็นไง จบแล้ว”

“ก็สนุกดีค่ะ” น้ำตาลสดพูด

“ผมชอบตอนรบกัน” แก่นแก้วว่าแล้วทำท่าไอ้มดแดง

“เอาล่ะ นักเรียน เห็นมั้ยว่ายักษ์ก็กลับตัวเป็นยักษ์ดีได้ แต่เราทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาความเป็นคนดีของเราตลอดไปนะครับ”

“นี่คนดีหรือคะ” น้ำตาลสดว่าพลางชี้ไปทางแก่นแก้ว

“หนูว่าเขาบ๊องๆ”

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชาดกนิทาน

พระยานกคุ่มโพธิสัตว์

ในอดีตกาล ในประเทศนั้นนั่นแหละในแคว้นมคธ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิด "นกคุ่ม" เกิดจากท้องมารดา ในเวลาทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมา ได้เป็นลูกนกคุ่ม มีตัวประมาณเท่าดุมเกวียนบรรทุกสินค้า ขนาดใหญ่. ลำดับนั้น บิดามารดาให้พระโพธิสัตว์นั้นนอนในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูด้วยจะงอยปาก. พระโพธิสัตว์นั้นไม่มีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศ หรือไม่มีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนที่ดอน และไฟป่าย่อมไหม้ประเทศนั้นทุกปีๆ.
แม้สมัยนั้น ไฟป่านั้นก็ไหม้ประเทศนั้นเสียงดังลั่น. หมู่นกพากันออกจากรังของตนๆ ต่างกลัวต่อมรณภัย ส่งเสียงร้องหนีไป บิดามารดา แม้ของพระโพธิสัตว์ก็กลัวต่อมรณภัย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไป.
พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นเอง ชะเง้อคอแลเห็นไฟป่ากำลังไหม้ตลบมา จึงคิดว่า ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศไซร้ เราก็จะพึงโบยบินไปที่อื่น ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนบกได้ไซร้ เราก็จะย่างเท้าไปที่อื่นเสีย ฝ่ายบิดามารดาของเราก็กลัวแต่มรณภัย ทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว เมื่อจะป้องกันตน จึงได้หนีไป. บัดนี้ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง วันนี้..เราจะทำอย่างไรหนอ จึงจะควร..?

คุณแห่งศีล, คุณแห่งสัจจะ, คุณแห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้า

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีล ย่อมมีอยู่ในโลกนี้ ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาล ชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายประทับนั่งที่พื้นต้นโพธิ ได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งแล้ว ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ ย่อมมีอยู่ และคุณของพระธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ทรงรู้แจ้งแล้วย่อมมีอยู่.
เออ..ก็ความสัจอย่างหนึ่ง ย่อมมีอยู่ในเราแท้ สภาวธรรมอย่างหนึ่งย่อมมีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะรำลึกถึงอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคุณทั้งหลายที่อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรู้แจ้งแล้ว ถือเอาสภาวธรรม คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในเรา กระทำสัจกิริยาให้ไฟถอยกลับไป กระทำความปลอดภัยแก่ตนและหมู่นกที่เหลือในวันนี้ ย่อมควร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ ความสะอาด และความเอ็นดู มีอยู่ในโลก ด้วยความสัจนั้น ข้าพเจ้าจักทำสัจกิริยาอันยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าพิจารณากำลังแห่งธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะ ขอทำสัจกิริยา.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ระลึกถึง พระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรินิพพาน ไปแล้วในอดีต แล้วปรารภสภาวะ คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน เมื่อจะทำสัจกิริยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเรา ออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
อธิบาย : บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ ปกฺขา อปตนา ความว่า ชื่อว่า ปีกทั้งสองของเรามีอยู่ คือเกิดมีอยู่แต่ไม่อาจบิน คือไปทางอากาศด้วยปีกเหล่านั้นได้ เหตุนั้น จึงชื่อว่าบินไม่ได้.
บทว่า สนฺติ ปาทา อวญฺจนา ความว่า แม้เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่แต่ไม่อาจเดิน คือไปโดยการย่างเท้าไปด้วยเท้าทั้งสองนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเดินไม่ได้.
บทว่า มาตา ปิตา จ นิกฺขนฺตา ความว่า อนึ่ง แม้มารดาบิดาผู้จะนำเราไปที่อื่น แม้นั้นก็ออกไปแล้ว เพราะกลัวตาย พระโพธิสัตว์เรียกไฟว่า ชาตเวทะ.
จริงอยู่ ไฟนั้นพอเกิดก็รู้ คือปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า "ชาตเวทะ" เกิดก็รู้. ด้วยบทว่า ปฏิกฺกม นี้ พระโพธิสัตว์สั่งไฟว่า จงถอยไป คือจงกลับไป. ดังนั้น พระมหาสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นแหละได้ทำสัจกิริยาว่า ถ้าความที่ปีกทั้งสองของเรามี ๑ ภาวะคือการเหยียดปีกทั้งสองบินไปทางอากาศไม่ได้ ๑ ความที่เท้าทั้งสองมี ๑ ภาวะคือการยกเท้าทั้งสองนั้นเดินไปไม่ได้ ๑ ความที่มารดาบิดาทิ้งเราไว้ในรังนั่นแหละแล้วหนีไป ๑ ทั้งหมดเป็นตัวสภาวะทั้งนั้น ดูก่อนไฟ ด้วยคำสัจนี้ ท่านจงกลับไปจากที่นี้.
พร้อมกับสัจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น ไฟได้ถอยกลับไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส ก็แหละ เมื่อจะถอยไป ก็ไหม้ไปยังที่อื่นในป่า ทั้งดับแล้วในที่นั้นเอง เหมือนคบเพลิงอันบุคคลให้จมลงในนํ้า ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อเราทำสัจจะ เปลวไฟอันรุ่งเรืองใหญ่หลีกไป ๑๖ กรีส พร้อมด้วยคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟอันตกถึงนํ้าก็ดับไป ฉะนั้น สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมี ของเรา ดังนี้.

ด้วยอำนาจสัตยาธิษฐาน บริเวณนี้ไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัปนี้

ก็สถานที่นี้นั้นเกิดเป็นปาฏิหาริย์ ชื่อว่าตั้งอยู่ชั่วกัป เพราะไฟจะไม่ไหม้ในกัปนี้แม้ทั้งสิ้น. พระโพธิสัตว์ ครั้นทำสัจกิริยาอย่างนี้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปตามยถากรรม.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่นี้ เป็นกำลังของเราในบัดนี้ หามิได้ ก็กำลังนั่นเป็นของเก่า เป็นสัจพลังของเราเองในครั้งเป็นลูกนกคุ่ม ดังนี้.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต.
ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มารดาบิดาในครั้งนั้นคงเป็น มารดาบิดา อยู่ตามเดิมในบัดนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม ได้เป็นเราตถาคต แล.

ชาดก นิทาน

มหาโมรชาดก – พญานกยูงทอง

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุผู้กระสันอยากจะสึกรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานกยูงมีสีเหมือนทองรูปร่างสวยงาม มีบริวารแวดล้อมหลายร้อยตัว วันหนึ่งพญานกยูงเห็นรูปร่างตนเองจากน้ำในสระ เกรงว่าจะเป็นอันตรายเพราะรูปสมบัติ จึงคิดจะปลีกหนีไปอยู่เพียงลำพังตัวเดียว เมื่อตกกลางคืนฝูงนกยูงหลับหมดแล้วได้แอบบินหนีเข้าป่าหิมพานต์ผ่านภูเขา ๔ ลูก พบสระใหญ่เกิดเองตามธรรมชาติ มีต้นไทรใหญ่ปกคลุมข้างเขาลูกหนึ่งจึงร่อนลงข้างต้นไทรนั้นเข้าไปอาศัยถ้ำแห่งหนึ่งอยู่

พอรุ่งเช้า พญานกยูงก็ได้บินไปเกาะยอดเขาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสวดมนต์เพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตนในเวลากลางวันว่า "อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา ฯลฯ" จบแล้วก็บินร่อนลงไปหากิน ตกเย็นก็จะบินมาจับบนยอดเขาที่เดิมหันหน้าไปทางทิศตะวันตกสวดมนต์เพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตนในเวลากลางคืนว่า "อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา ฯลฯ" แล้วก็บินร่อนเข้าถ้ำหลับนอน เป็นอยู่ลักษณะเช่นนี้เป็นประจำ

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่งเที่ยวไปในป่าลึกเห็นพญานกยูงทองจับอยู่บนยอดเขานั้นโดยบังเอิญ จึงกำหนดสถานที่ไว้ หลายปีผ่านไปเมื่อเขาใกล้จะตายจึงได้เล่าเรื่องนี้ให้ลูกชายฟังว่า "ลูกเอ๋ย..ในป่าตรงยอดเขาลูกที่๔ โน้น มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ถ้าพระราชาต้องการ เจ้าจงกราบทูลให้ทรงทราบนะ" สั่งเสียแล้วก็ตายไป

อยู่ต่อมาพระนางเขมาเทวีมเหสีของพระเจ้าเมืองพาราณสีทรงสุบินในเวลาใกล้รุ่งว่า มีนกยูงทองสวยงามตัวหนึ่งแสดงธรรมแก่พระนางเสร็จแล้วก็บินไป พระนางเห็นนกยูงทองกำลังจะบินไปรับสั่งให้คนช่วยกันจับมันไว้ ขณะกำลังตรัสอยู่นั่นเองก็ทรงตื่นเสียก่อน เมื่อทราบว่าเป็นความฝัน ก็ดำริจะให้สืบดูว่าในโลกนี้มีนกยูงทองอยู่จริงหรือเล่า ถ้าจะทูลพระราชาว่าเป็นความฝันพระองค์ก็จะไม่ใส่พระทัย จึงทรงบรรทมทำทีเป็นแพ้ครรภ์อยู่

พระราชาเมื่อทราบว่าพระมเหสีแพ้ครรภ์ก็เสด็จเข้าไปหาตรัสถาม เมื่อสดับว่าแพ้ครรภ์อยากจะฟังธรรมจากพญานกยูงทองจึงรับสั่งให้อำมาตย์เข้าเฝ้าและปรึกษาหารือ อำมาตย์กราบทูลว่า "พวกพราหมณ์อาจจะทราบได้ พระเจ้าข้า"

จึงมีรับสั่งให้พราหมณ์เข้าเฝ้า พวกพราหมณ์กราบทูลว่า "ขอเดชะ สัตว์ที่มีสีเหมือนทองมีอยู่ในโลก แม้แต่มนุษย์ที่มีสีเหมือนทองก็มีอยู่ โปรดให้ประชุมพวกนายพรานเถิดอาจจะรู้ได้ พระเจ้าข้า"

พระราชาให้เรียกนายพรานและลูกนายพรานมาประชุมกันแล้วตรัสถามว่า "สูทั้งหลาย มีใครเคยเห็นนกยูงทองบ้างไหม" ลูกชายนายพรานคนนั้นจึงกราบทูลให้ทราบว่า "ขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น แต่บิดาผู้ล่วงลับของข้าพระองค์เคยเห็นได้สั่งไว้ว่ามีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ณ ที่ตรงโน้น พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงพอพระทัยมากประทานทรัพย์เป็นรางวัลแล้วมอบหมายให้เขาไปจับมันมาถวายให้จงได้

เขามอบทรัพย์ให้ภรรยาแล้วก็เข้าป่าไปเห็นพญานกยูงทองแล้วดักบ่วงภาวนาอยู่ว่า "วันนี้ต้องติด วันนี้ตองติด" พญานกยูงก็ไม่ติดบ่วงสักทีเพราะสวดมนต์ดังกล่าว จนเขาป่วยและตายไป ฝ่ายพระเทวีเมื่อไม่ได้ดังปรารถนา ก็สิ้นพระชนม์เช่นกัน

พระราชาทรงกริ้วว่า "เพราะอาศัยนกยูงทองตัวนี้เป็นเหตุให้เมียรักของเราต้องสิ้นพระชนม์" จึงผูกเวรพญานกยูงทองให้จารึกไว้ในแผ่นทองว่า "ที่ยอดเขาลูกที่ ๔ ในป่าหิมพานต์มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ใครได้กินเนื้อของมันแล้วจะไม่แก่ไม่ตาย" แล้วบรรจุไว้ในหีบไม้แก่นไม่นานพระองค์ก็เสด็จสวรรคตไป

เมื่อกษัตริย์องค์อื่นขึ้นครองราชย์ได้เปิดหีบไม้อ่านเจอแล้วก็ส่งนายพรานคนหนึ่งไปจับ นายพรานคนนั้นก็เสียชีวิตที่นั้นเหมือนกันโดยทำนองนี้จนเวลาผ่านไปถึง ๖ รัชกาล นายพราน ๖ คนตายในป่าหิมพานต์นั้น

ต่อมาถึงนายพรานคนที่ ๗ ในสมัยของพระราชาพระองค์ที่ ๗ ได้เข้าไปซุ้มดักจับพญานกยูงทองเป็นเวลา ๗ ปีผ่านไปก็ยังจับไม่ได้

เมื่อนายพรานทราบว่าที่พญานกยูงทองไม่ติดบ่วง เป็นเพราะอำนาจพระปริตรและพญานกยูงทองประพฤติพรหมจรรย์ไม่มีนางนกยูงตัวอื่นอยู่ด้วย จึงคิดได้อุบายอย่างหนึ่งไปดักจับนางนกยูงตัวหนี่งได้แล้วนำมาฝึกให้เชื่อง ให้ขันในเวลาดีดนิ้ว ให้ฟ้อนรำในเวลาตบมือ นายพรานพอฝึกนางนกยูงได้เป็นที่พอใจแล้วก็นำนางนกยูงไปป่านั้นด้วย ก่อนจะถึงเวลาพญานกยูงทองจะสวดมนต์ ก็ได้ดีดนิ้วให้นางนกยูงขันขึ้น

ฝ่ายพญานกยูงทองพอได้ฟังเสียงของนางนกยูงเท่านั้นกิเลสที่ราบเรียบตลอดเวลา ๗๐๐ ปี ก็ฟุ้งขึ้นทันที มีกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส ไม่สามารถจะสวดมนต์ได้ รับบินถลาลงไปหานางนกยูงนั้น ก้าวขาไปติดบ่วงนายพรานในที่สุด

นายพรานพอจับพญานกยูงทองได้แล้วก็คิดว่า "นายพรานเสียชีวิตตั้ง ๖ คน เราเองก็เสียเวลาไปตั้ง ๗ ปี ก็ไม่สามารถดักจับมันได้ แต่เช้านี้ พญานกยูงทองกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสไม่อาจสวดมนต์ได้ มาติดบ่วงแขวนห้อยต่องแต่งเอาหัวลงอยู่ สัตว์ผู้มีศีลถูกเราทำให้ลำบากแล้ว การนำสัตว์เช่นนี้ไปถวายพระราชาไม่ควรเลย เอาเถอะเราจะปล่อยมันไป แต่ถ้าเราจะปรากฏตัวให้เห็น มันก็จะดิ้นรนหนีตาย ทำให้ขาและปีกมีบาดแผล อย่ากระนั้นเลย เราแอบใช้ปลายธนูตัดสายบ่วงจะดีกว่า" คิดแล้วก็แอบอยู่ในพุ่มไม้สอดลูกธนูเตรียมจะยิ่งใส่บ่วง

ฝ่ายพญานกยูงทอง เหลียวซ้ายแลขวาเห็นนายพรานยืนถือธนูอยู่เข้าใจว่าเขาจะยิงตน จึงพูดอ้อนวอนขอชีวิตว่า "สหายถ้าท่านจับเราเพื่อทรัพย์แล้ว อย่าฆ่าเราเลย จงนำเราไปถวายพระราชา ท่านก็จะได้ทรัพย์มาก" นายพรานพูดตอบว่า "เราเตรียมยิงธนู มิใช่จะฆ่าท่าน แต่จะตัดบ่วงที่เท้าของท่านดอก"

พญานกยูงทอง "ท่านพยายามดักจับเรานานถึง ๗ ปี สู้อดกลั้นความหิวกระหายทั้งกลางคืนและกลางวัน วันนี้จับได้แล้วทำไมจึงคิดปล่อยเราเสียละ ท่านงดการฆ่าสัตว์หรือให้อภัยสัตว์ทั้งหลายแล้วหรือ"

นายพราน"พญานกยูง ผู้งดฆ่าสัตว์และให้อภัยสรรพสัตว์ตายไปแล้วจะได้ความสุขอะไร"

พญานกยูงทอง "ผู้งดเว้นฆ่าสัตว์ และให้อภัยสรรพสัตว์ย่อมได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปย่อมไปเกิดในสวรรค์"

นายพราน "สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบอกว่า เทวดาไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี ทานอันคนโง่บัญญติไว้ เราเชื่ออย่างนี้จึงได้ฆ่านกทั้งหลาย"

พญานกยูงทอง "ดวงจันทร์และดวงทิตย์ที่เห็นกันในท้องฟ้า สมณพราหมร์พวกนั้นสอนว่า มีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่นและจะเป็นเทวดาในมนุษยโลกอย่างไรหรือ"

นายพราน "ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่เห็นกันในท้องฟ้าพวกท่านสอนว่า มีอยู่ในโลกอื่น ไม่มีในโลกนี้และเป็นเทวดาไม่มีในมนุษยโลก"

พญานกยูงทอง "พวกสมณพราหมณ์เหล่านั้นสอนว่า ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี ท่านอันคนโง่บัญญัติไว้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีอยู่ในเทวโลก ไม่มีในโลกนี้ เป็นเทวดามิใช่เป็นของมนุษย์นับว่าเป็นคำสอนที่เลวทรามมาก เป็นพวกไม่มีเหตุผล"

นายพราน "จริงอย่างท่านว่า "ไฉนทานจะไม่มีผล ไฉนกรรมดีกรรมชั่วจะไม่มีผล ทานอันคนโง่จะบัญญัติได้อย่างไร พญานกยูงทอง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร ประพฤติอย่างไร สมาคมอะไรด้วยตบะคุณอะไรจะไม่ไปตกนรก ขอท่านจงบอกด้วย"

พญานกยูงทอง "มีสมณะพวกหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดประพฤติเป็นผู้ไม่มีเรือน เที่ยวบิณบาตในเวลาเช้า เว้นเที่ยวในเวลาวิกาล เป็นผู้สงบจากกิเลสแล้วมีอยู่ในโลกนี้ ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ถามปัญหาสงสัยกะท่านเหล่านั้น ถ้าไม่อยากตกนรก" ว่าแล้วก็ขู่นายพรานให้กลัวภัยในนรก

นายพรานนั้นเป็นผู้มีบารมีบำเพ็ญเต็มแล้ว มีญาณแกล้วเมื่อฟังธรรมกถาจบยืนอยู่ท่าเดิมนั้นแหละ กำหนดสังขารพิจารณาไตรลักษณ์ บรรลุปัจเจกโพธิญาณเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า การบรรลุธรรมของนายพรานและการพ้นจากบ่วงของพญานกยูงทองเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน

พระปัจเจกพุทธเจ้าระลึกถึงนกที่ตนเองขังไว้เป็นจำนวนมากที่บ้าน จึงทำสัจกิริยาปล่อยนกทั้งหลายให้พ้นจากที่ขังไปแล้วก็เหาะไปอยู่ที่เงื้อมเขานันทมูล ฝ่ายพญานกยูงทองก็หาอาหารและกลับที่อยู่ของตนดังเดิม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้ทำดีมีศีลธรรมย่อมรอดพ้นจากอันตรายได้ทุกเมื่อ

การเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ

การเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่าย ๆ ประจำวัน ซึ่งควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆคือไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการดังต่อไปนี้ หาก ทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า " จิตของผู้นั้นไม่ห่างวิปัสสนา และเป็นผู้ที่ไม่ห่างจากมรรค ผล นิพพาน " คือ
๑ . มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็ คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อัน ความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระ พุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า " มรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) อันบุคคลทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด " อันมรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ้งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ เพราะยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า " ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก "
มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย " ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า "
ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่ หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า " หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด " และกล่าวไว้อีกว่า " หลงยศลืมตาย หลงกายลืมเนา " และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแนนอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดัง กล่าวมา ก็ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระ ประโยชน์อันใดมิได้เลย
มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์ เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า " อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตวจะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่าอย่าฉิบหายเลย ดังนี้ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ "
และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า " อัปปมาทธรรม " สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม ๘๔ , ๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด "
๒ . มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมูหนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย
๓ . มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน บางทีเรียกกัน ง่าย ๆ ว่า " กายคตาสติกรรมฐาน " เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก เพราะสามารถทำให้ละ " สักกายทิฏฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อ ต้นๆได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตน์ผลได้จะต้องผ่านการพิจารณา กรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความหลง และความโกรธ ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี่เอง
การพิจารณา ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง ที่ ว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ที่เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของ สัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไปก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น " ขี้ " มีสารพัดขี้ ซึ้งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่า นั้นเอง แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่เสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากทวารหูก็เรียกกันว่าขี้หู ขับถ่ายออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ที่ติดอยู่กับฟันก็เรียกขี้ฟัน ที่ออกมาทางจมูกก็เรียกว่าขี้มูก รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับออกมาพอพ้นร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายมาเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หาเพราะว่าเป็นขี้ และก็ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบได้ นานมาก็กลายมาเป็น " ขี้ไคล " ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว
แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมกันเรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงามน่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้ทุกคน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาดขาดใจ ก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควาญเรียกขวัญกันอีก หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหนังหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกออกมาดูก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงใหลกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกมาให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆแล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หาที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ไต ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือดน้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้าแต่งตา ทาสี พอกแป้งย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆแล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แต่ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น
เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ ๕ ประการค่อยๆสงบระงับทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้
กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิต ที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอาการ ๓๒ ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อเกิดมีอาการ ๓๒ ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารักน่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ " นิพพิทาญาณ " จะเกิดขึ้น
และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ " สังขารุเปกขาญาณ " ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่าจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน - ขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ " สักกายทิฐิ " อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาคือเป็น " พระโสดาบัน " สมจริงตามที่ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า " การเจริญกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างมรรค ผล และนิพพาน "
ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาล ท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นจำนวนมาก ในสมัยที่พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้ใหม่ๆได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภารยา ซึ่งมีบุตรที่สุดสวยชื่อว่า " นางมาคัณฑิยา " พราหมณ์ทั้งสองชอบใจในพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรค ผล จึงได้ทรงแสดงพระธรรมให้ฟัง โดยยกเอากายคตานุสติกรรมฐานขึ้นมาเทศน์ ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงามแห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตรคูถเน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆมิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม
ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี ก็ได้จองล้างจองผลาญพระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือนางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้น และพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรมมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงามที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้น ให้พระนางได้มองเห็น แล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆเจริญวัย แก่ แล้วชราโทรมๆลงจนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อยสลายไปต่อหน้า พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้นเข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนางจนเห็นว่า อันร่างกายอันงดงามของพระนางนั้นหาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจังและอนัตตา หาสาระแก่นสารที่พึ่งอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ในขขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง

๔ . มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน
คือ นอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ ( ๓ ) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย
เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูด ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี
ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อยๆดังกล่าวออกไปจากหน่วยย่อยๆของชีวิต คือเซลล์เล็กๆที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวม กันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย
ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆปีคนแล้วคนเล่า
ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติใน อดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิมีสมบัติสร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อน โลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านว่าอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ
ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะ ต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้
เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริ ฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มี จริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่ามีจริงดั่งที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอม รับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายไม่ขาดทุนหรอกหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่าก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น " โมฆะบุรุษ " โดยแท้

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

ใช้ชีวิตให้สงบลงสักหน่อย

คนเราตอนนี้หาดูเหมือน จะหาความสุขยากเหลือเกิน เดินไปทางไหนก็มีแต่คนหน้าตึงๆ กันซะทั้งนั้น .. บางคนเครียดเพราะปัญหาชีวิต บางคนก็ความรัก แต่เหมือนวัยของน้องๆ น่าจะกังวลเรื่อง การสอบ เสียมากกว่าดังนั้นจึงหาวิธีง่ายๆ ในการใช้ชีวิตให้สงบลงสักหน่อย เอามาฝากกันค่ะ (ค่อยๆ ทำไปวันละข้อสองข้อก็แ้ล้วกันนะ .. เริ่มเล้ยยย

1. หายใจให้ทั่วท้อง
2. นวดเพื่อล้างพิษ
3. ปิดมือถือ ในบางขณะ เพื่อเป็นอิสระ คิดอะไรได้เต็มที่
4. โนบรา ซะ ( อันนี้ผู้ชายทำยากนะ )
5. กินอย่างมีสติ : ไม่กินจนฟุ้งเฟ้อ และกินจนเกินความจำเป็นไม่อื่มเกินและเคี้ยวช้า ๆ คำละ 50 ครั้ง
6. ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ดื่มน้ำช่วงเช้าหลังตื่นนอนก่อนแปรงฟันจะมีประโยชน์น้ำที่ผสมน้ำลายในปากจะเป็น ตัวล้างลำไส้ได้ดีนัก
7. เตือนตัวเองให้ทานผลไม้วันละ 3 - 5 อย่าง หลากสี (แต่จริงๆ พี่ว่า ทานให้ได้วันละอย่างก็ดีแล้วนะ ขอแค่! ทำให้ด๊า ยยย~~~~)
8. อดบ้างก็ได้ การอดอาหารในช่วงสั้น ๆ แม้เพียงวันละมื้อจะช่วยให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมได้พักผ่ อน
9. อาบน้ำคลายเครียด
10. ขับถ่ายบอกสุขภาพ ปัสสาวะที่ดีต้องใส ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอนถ้าเข้มต้องดื่มน้ำเพิ่ม อุนจิ ต้องนิ่ม สีเหลือง ลอยน้ำได้ ไม่เหม็น หากแข็งต้องเพิ่มผัก ผลไม้ และน้ำ
11. หวีผมบรรเทาปวด ในวันที่เครียด / ปวดหัวตุบๆ ลองแปรงผมด้วยหวีที่มีปุ่มตรงซี่แปรง
12. ยิ้มหน่อย ( ใครชอบเก็ก ไม่ยิ้ม ลองดูนะคะ)

13. มาหัวเราะกันเถอะ ทั้งยิ้มและหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขค่ะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดระดับความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน
14. น้ำตาคลายเครียด และช่วยระบายความเครียดได้ (แอบร้องก็ได้ถ้าอายแต่จริงแล้ว ร้องไห้เป็น เรื่อง ปกติมนุษย์)
15. เซ็กซ์คือยาวิเศษ < อันนี้ให้ถึงวัยที่เหมาะสมกันก่อนนะจ๊ะ
16. นอนหลับเพิ่มพลัง เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟู ตอนนอนร่างการจะหลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และ ระบายท็อกซินออกจากสมอง
17. สักงีบหนึ่ง หลับกลางวัน สัก 15 นาที
18. เดินเท้าเปล่ากันบ้าง ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสานสัมผัสกล้ามเนื้อ กระดูก และสมอง เดินเท้าเปล่า รับน้ำค้างบริสุทธ์ สนามหญ้า ย่ำก้อน กรวดบ้าง
19. กอด ยาวิเศษประจำบ้าน กอดคนที่คุณรักจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางช่วยปลดปล่อยความเครียด
20. ช่างคุย กับเพื่อนสนิท คนรู้ใจ <<< แต่บางคนไม่ชอบคุย ก็หาเรื่องเขียนระบายกันแทนได้ เหมือนข้อ 22. เลย
21. ร้องเพลง ขณะร้องร่างกายจะขับคาร์บอนไดออกไซด์ และสูดออกซิเจนได้มากขึ้น
22. ไดอารี่ที่รัก เขียนบันทึกช่วยระบายความในใจ และ ได้ทบทวนชีวิต รู้จัก และปรับปรุงตัวเองได้
23. Out Door Please ออกใช้ชีวิตกลางแจ้งบ้าง

24. ฝึกสมองทุกวัน อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ทำให้สมองทำงานมากกว่า 80 % ขณะที่ดูโทรทัศน์ใช้สมอง 20 % อย่าลืมอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 15 นาที
25. สงบใจไหว้พระ
26. ชวนกันมาดูดาว
27. ความสุขจากรูปเก่า เก่า
28. ให้เพื่อได้รับ เศษสตางค์ ลองหยอดตู้บริจาคแบ่งสิ่งของให้คนที่ยากจนกว่าเรา ฯลฯ ช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสุข
29. ชมคนอื่นเสียบ้าง
30. พูดขอบคุณให้ติดปาก และขอบคุณจากใจจริงร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินทำให้มีความสุข

มีชีวิตอยู่เพื่อ . . . คนที่เรารักไปอีกนาน ต้องรักษาสุขภาพ

งานฌาปณกิจ ตาจรวย คำทะริ

DSCN0969 DSCN0970 DSCN0972 DSCN0974 DSCN0976 DSCN0978 DSCN0981 DSCN0982 DSCN0985 DSCN0988 DSCN0990 DSCN0992 DSCN0993

ใครหว่า

DSCN1000 DSCN1001 DSCN1002